ดีแอน อาร์บัส กับโลกอันประหลาดของเธอ
Posted by Akkara - Dec 21, 2012 04:22
เมื่อปี 1923 ดีแอน เนอเมอรอฟ (Diane Nemerov) ถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวธุรกิจเสื้อผ้าขนสัตว์ในนิวยอร์ค “Russek” ซึ่งมีพ่อของเธอเป็นเจ้าของกิจการ และภายหลังกลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายเสื้อผ้าสตรีที่มีชื่อเสียง ตอนเป็นเด็กเธอกับครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวไปยังยุโรปหลายครั้ง ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในปี 1930 เธอและครอบครัวอาศัยอยู่ในอาร์พาร์ตเมนต์สุดหรูในซานมาริโน มีห้องชุดถึง 14 ห้อง มีคนใช้ 2 คน มีคนขับรถ มีกุ๊ก มีพี่เลี้ยงเด็กสองคน (ดีแอนกับน้องชาย) และเมื่อเธอตัดสินใจที่จะเรียนต่อสายศิลปะ เธอก็ยังได้ติวกับจิตกรที่มีชื่อเสียงของนิวยอร์ค ทั้งหมดบ่งบอกว่าดีแอนมีชีวิตที่เลิศหรูเพียงใด
 
เมื่อดีแอนอายุ 14 เธอตกหลุมรักกับ อลัน อาร์บัส ผู้ที่ทำงานในแผนกโฆษณาของธุรกิจครอบครัวของเธอ ในที่สุดเมื่ออายุได้ 18 ปี เธอก็ตัดสินใจแต่งงานกับเขาท่ามกลางเสียงคัดค้านของครอบครัว อลันได้ซื้อกล้อง Twin Lens มาใช้เพื่อถ่ายภาพแฟชันโดยมีดีแอนเป็นผู้ออกแบบท่าทาง สุดท้ายพ่อของเธอก็ตัดสินใจจ้างดีแอนกับอลันมาถ่ายแบบโฆษณาของบริษัท ซึ่งการนี้ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับในตัวลูกเขยกลายๆ

อลันถูกเรียกตัวไปประจำการในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกมอบหมายให้ถ่ายภาพหน่วยอาณัติสัญญาณของกองทัพ จนถูกส่งตัวไปประจำการที่ประเทศอินเดีย หลังจากที่อลันไป ดีแอนก็ได้รู้ว่าเธอตั้งท้อง เธอใช้กล้อง 5x7 ถ่ายภาพพัฒนาการการตั้งท้องของเธอและนี่น่าจะเป็นภาพถ่ายสารคดีชุดแรกของดีแอน อาร์บัส และหลังจากสงครามสิ้นสุดลง อลัน และดีแอนก็กลายเป็นช่างภาพโฆษณาที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น


 
ดีแอนเป็นคนที่ขี้อายเหมือนเด็กๆ เธอจะรู้สึกอึดอัดอย่างมากเมื่อมีคนมากล่าวชื่นชมเธอในเรื่องใดๆ เพราะเธอมักคิดเอาเองว่าเธอไม่คู่ควรกับคำชมนั้น น้องชายของเธอให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เขาและดีแอนถูกเลี้ยงดูมาเหมือนไข่ในหิน จนบางครั้งเหมือนกับถูกครอบงำจากครอบครัว ซึ่งทำให้คู่กลัวอย่างมาก เรื่องเหล่านี้ส่งให้ดีแอนมีนิสัยที่มีความมุ่งมั่น ดื้อรั้น และมีหัวกบฏ และทำให้เธอเป็นโรคซึมเศร้าด้วยในเวลาเดียวกัน ดีแอนเคยพูดถึงเรื่องเหล่านี้ว่า “มีเรื่องในวัยเด็กเรื่องหนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวด คือการที่ฉันไม่เคยรู้สึกถึงความยากลำบากใดๆ ฉันถูกปลูกฝังให้คิดและทำอยู่ในอากาศเท่านั้น พวกเขาไม่เคยปล่อยให้ฉันได้ลงมือทำอะไรด้วยตนเองเลย”
 
การทำงานร่วมกันระหว่างดีแอนกับอลันออกจะแปลกๆอยู่สักหน่อย ดีแอนจะเป็นคนคิดเรื่องการโพสท่าของนางแบบ ส่วนอลันจะเป็นคนดูแลเรื่องแสง การโพรเซส เวลาทำงานเขาทั้งคู่จะเข้าไปดูภาพด้วยกันใต้ผ้าคลุมหลังกล้องถ่ายภาพ พูดคุยกระซิบกระซาบเรื่องการทำงาน รวมถึงเรื่องต่างๆ พอถ่ายได้สองสามภาพก็จะย้ายไปที่มุมหนึ่งเพื่อคุยกันอีก บรรณาธิการท่านหนึ่งบอกว่า พวกเขาสองคนเหมือนเด็กๆที่กำลังเล่นในอัลบัมภาพแต่งงาน ทุกอย่างดูเหมือนทำเป็นเล่นไปซะหมด 
 
ดีแอนจะไม่สนใจคำยกยอจากใครเลยนอกจากสามีของเธอ อลันก็ยอมรับว่าดีแอนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าตัวเขา และเขาก็ชอบที่จะให้เป็นอย่างนั้นซะด้วย ช่วงปี 1952-1953 อลันและดีแอนออกเดินทางไปยังฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวแนวทางการถ่ายภาพของตัวเอง และทั้งคู่เคยได้เรียนการถ่ายภาพกับ HCB ด้วย  อลันพยายามอย่างมากที่จะถ่ายภาพให้เป็นธรรมชาติให้มากขึ้น ทางด้านดีแอน เธอฝึกถ่ายภาพโดยไม่คำนึงถึงเทคนิคมากนัก แต่จะคำนึงถึง “สิ่งที่จะถ่าย” มากกว่า “วิธีที่จะถ่าย” บางครั้งเธอถือกล้องออกไปโดยที่ไมีมีฟิล์มในกล้องเลยด้วยซ้ำ เธอมีความสุขที่จะถ่ายภาพอะไรก็ตามที่กระตุ้นความสนใจใคร่รู้ และเพิ่มพูนจินตนาการของเธอ ไม่มีใครเคยล่วงรู้เลยว่า การเดินทางมาครั้งนี้จะเป็น “การเริ่มต้นของจุดจบ” ในหลายๆสิ่ง  รวมถึงชีวิตของดีแอนเองด้วย
 
หลังจากกลับจากยุโรป ดีแอนเริ่มที่จะหมดความสนใจในการถ่ายภาพโฆษณาและแฟชันทั้งที่เป็นการถ่ายภาพที่สนับสนุนด้านการเงินให้กับเธอและสามี แม้จะว่าภาพถ่ายของพวกเขาจะมีเทคนิคที่ดี และได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินมากมาย แต่ภาพพวกนั้นมันขาดแรงบันดาลใจ และขาดคุณค่าทางศิลปะ บรรณาธิการของ Cond Nast แสดงความคิดเห็นว่า “ภาพถ่ายของพวกเขาขายเพียงแฟชัน ซึ่งไม่มีความน่าตื่นเต้นอะไรในนั้น” ดีแอนเริ่มถ่ายภาพแนวสารคดีอย่างลับๆ นั่นเป็นคาบเวลาเดียวกันกับ โรเบิร์ต แฟรงค์ที่เริ่มแสดงงานของเขาให้คนอื่นดู หลังจากท่องเที่ยวรอบอเมริกามา 2 ปี ในปี 1956 หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป และบางสิ่งก็เปลี่ยนไปอย่างถาวร

 
ดีแอนถอนตัวจากการถ่ายภาพเชิงพานิชย์ โดยปล่อยให้อลันดำเนินการต่อไป เธอสมัครเข้าเวิร์คชอปการถ่ายภาพของ Lisette Model และ Alexey Brodovitch เขาทั้งคู่ไม่สนใจว่าเธอจะเคยอยู่ในทีมช่างภาพแฟชันที่ประสบความสำเร็จมาก่อน พวกเขาสอนดีแอนเหมือนนักเรียนคนอื่นๆ -- Brodovitch เคยพูดเสมอๆว่า “ถ้าเคยเห็นมุมนั้นๆมาก่อน อย่าได้คิดกดชัตเตอร์” ดีแอนชื่นชอบภาพของ Lisette Model ซึ่งมักเป็นภาพของคนชั้นล่างของสังคม ขอทาน คนเมา คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ Lisette Model มักสอนว่า “เวลาที่มองผ่านวิวไฟน์เดอร์ไปยังสิ่งใด จะยิงคำถาม และบางครั้งภาพนั้นจะตอบกลับมา” ดีแอนเริ่มศึกษางานของช่างภาพต่างๆเพื่อให้รู้ว่าพวกเขาถ่ายอะไร ถ่ายอย่างไร และถ่ายทำไม และช่างภาพคนสำคัญที่ดีแอนรับเอาสไตล์มาอย่างชัดเจนคือ ช่างภาพหนังสือพิมพ์อย่าง Wee Gee
 
ดีแอนวางกล้อง Medium Format และหันมาใช้กล้องที่เบากว่าอย่างไลก้า 35mm เหมือนที่ Robert Frank ใช้ และแน่นอนเธอเริ่มชอบที่จะมีเกรนในภาพซึ่งมักเป็นที่รังเกียจของวงการถ่ายภาพโฆษณา เพื่อนคนหนึ่งพาเธอไปดูหนังของ Todd Browning ชื่อเรื่องว่า Freaks ที่เป็นเรื่องของคนที่มีลักษณะร่างกายที่ประหลาด เราไม่รู้ว่าดีแอนคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้มากขนาดไหน แต่เธอกลับไปดูหนังเรื่องนี้อีกหลายต่อหลายครั้ง 


 
เธอเริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ Hubert’s Dime Museum และคณะละครสัตว์ Flea ที่ๆมีนักแสดงละครสัตว์หลากหลายประเภท เช่น คนที่มีแขนเล็กคล้ายแมวน้ำ (Sealo the Seal Boy) นักแสดงที่มีหน้าครึ่งชายครึ่งหญิง (Alberto Alberta) คนที่เหมือนลิง (Congo the Jungle Creep) คนหัวเข็มหมุด คนกินไฟ แฝดสยาม ไปจนถึงคนสามขา เธอมักไปกับเพื่อนๆของเธอ และบางครั้งก็ไปกับช่างภาพคนอื่นๆ อย่างเช่น Joel Meyerowitz
 
พูดในอีกทางหนึ่งดีแอนกำลังก้าวออกมาจากความปลอดภัยและหลักประกันของครอบครัวอันมั่งคั่งของเธอ เธอกำลังค้นหาโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสุดแปลกพิศดาร ปะปนไปด้วยเรื่องจริง และเหนือจริง ตอนนั้นดีแอนอายุ 35 ปี มีลูกสองคน กำลังมุ่งหน้าไปสู่ชื่อเสียง และพลิกโฉมการนำเสนอภาพถ่ายแบบเดิมๆจนหมดสิ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งที่ยังคงเจ็บปวดอยู่กับอาการขี้อายของตัวเอง จริงๆดีแอนมีความกลัวและไม่กล้าที่จะไปแนะนำตัวเองกับผู้ที่เธออยากจะถ่ายภาพ แต่เธอก็สามารถจัดการกับความกลัวเหล่านี้ได้ ลูกสาวของดีแอนเล่าว่า ดีแอนชอบที่จะเก็บความกลัวเอาไว้ในใจเสมอ เพราะเธอเชื่อว่าภายใต้ความกลัวนั้นอาจจะมีสิ่งที่พิเศษแฝงเร้นอยู่ ระดับขั้นของความกลัว และความไม่สบายใจบางอย่างสามารถป้องกันเธอจากภาวะซึมเศร้า และผลักดันเธอให้มีชีวิตอยู่ในโลกความจริงได้ 


 
สิ่งที่เอาชนะความกลัว และอาการขี้อายของเธอนั้น คือ การถ่ายภาพ ดีแอนเคยให้สัมภาษณ์ว่า “Photography was a license to go wherever I wanted and to do what I wanted to do.”  (การถ่ายภาพ คือใบผ่านทางให้ไปในทุกๆที่ที่ฉันอยากจะไป และทำในทุกๆอย่างที่อยากจะทำ) ภาพถ่ายของดีแอนทำให้คนส่วนใหญ่ช็อคกับภาพที่เห็นเสมอ ถึงแม้ว่าตอนเด็กๆเธอจะได้รับการปลูกฝังไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับคนที่มีความผิดปกติเหล่านี้ ไม่ว่าจะคนจรจัด คนที่มีสภาพร่างกาย “แตกต่าง” (อย่างที่ดีแอนเรียกว่า Freaks) 
 
เธอก็ใช้การถ่ายภาพเป็นใบเบิกทางที่จะจ้องมอง และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนเหล่านี้ James Randi นักมายากลผู้ที่พาดีแอนไปรู้จักกับคนแปลกอื่นๆได้บอกว่า “ดีแอนเป็นพวกคลั่งไคล้คนแปลก เธอไม่ได้หลงใหลเฉพาะความแปลกเท่านั้น แต่ดูเหมือนเธอมีพันธสัญญาบางอย่างต่อพวกเขา” ดีแอนคิดว่าบุคคลเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงชัยชนะที่อยู่เหนือความหวาดกลัว (อาจรวมถึงตัวเธอด้วย) คนแปลกเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับบาดแผลที่ประทับอยู่ในจิตใจ การฝ่าฟันกับอุปสรรคและประสบการณ์อันบอบช้ำทำให้เหล่าคนแปลกเปรียบได้กับคนชั้นสูงเลยทีเดียว
 
ปี 1959 ดีแอนแยกทางกับสามี ซึ่งยังคงหลงเหลือความเป็นเพื่อนที่ดีเอาไว้ ถึงแม้จะหย่ากันแล้วอลันสามีก็ยังสนับสนุนเรื่องการเงินให้เธอบ้างตามสมควร เกี่ยวกับงานการถ่ายภาพของดีแอน แม้ว่าช่างภาพ รวมถึงอาร์ตไดเรคเตอร์หลายๆคนจะชื่นชอบงานของเธอ และแน่นอนภาพถ่ายของเธอเป็นภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยม แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญหรือจำเป็นที่ผู้อ่านต้องดูมันทุกๆเดือน (รวมถึงไม่ได้ดึงดูดโฆษณามาลงมากนัก) ทำให้ดีแอนก็มีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการขายงานให้นิตยสารต่างๆเหมือนกัน 
 
จนกระทั่งปี 1960-1961 นิตยสาร Esquire เตรียมจะออกตีพิมพ์นิตยสารฉบับพิเศษเพื่ออุทิศให้กับ New York City บรรณาธิการชอบงานของดีแอนจึงมอบหมายให้ดีแอนถ่ายภาพเกี่ยวกับ New York City เธอออกถ่ายภาพอย่างหนักทั้งกลางวัน กลางคืน ถ่ายภาพที่เก็บศพ ไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ สุดท้ายแล้วแม้ว่าทุกคนจะชื่นชมเธอให้ความสามารถในการถ่ายภาพ แต่ทางนิตยสารก็ลงตีพิมพ์ภาพถ่ายของดีแอนแค่ 6 ภาพเท่านั้น ถึงอย่างไรดีแอนก็ยังคงรับ Assignment จากนิตยสารต่างๆต่อไป (แม้ว่าจะไม่เคยได้ลงตีพิมพ์เลยก็ตาม) ดีแอนเคยได้รับรางวัลจาก Guggenheim Foundation (ช่างภาพผู้ที่ได้รางวัลนี้ได้แก่ Robert Frank, Lewis Baltz, Robert Adams ฯลฯ) และเธอยังเคยได้รับเชิญให้ไปสอนที่ Parsons School of Design อีกด้วย 
 
ช่วงปี 1960 ดีแอนเริ่มเปลี่ยนแนวจากถ่ายภาพคนแปลกมาถ่ายภาพคนปกติแทน แต่ก็เหมือนเดิม ดีแอนถ่ายภาพคนปกติในแบบ “ไม่ปกติ” และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักวิจารณ์ นักวิชาการทั้งรักทั้งชัง สิ่งที่เธอถ่ายออกมา หลายคนยกย่องความกล้าในการเข้าไปถ่ายภาพในสถานที่ๆใครหลายคนทำได้แค่ชายตามอง รวมถึงความตรงไปตรงมาในการถ่ายภาพสิ่งที่ผู้คนต้องเบือนหน้าหนี หรือแอบดูในที่ลับตาเท่านั้น ดีแอนจะไม่ได้ถ่ายภาพบุคคลเหล่านั้นเพราะความสงสารหรือเห็นใจ แต่เพราะความอยากรู้อย่างเห็นในความแปลก เหนือธรรมดา ที่ชักจูงดีแอนให้ลุ่มหลงกับการถ่ายภาพแบบนี้ Saul Leiter ช่างภาพคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนบ้านของดีแอน เคยถูกดีแอนถามว่า เคยรู้จักผู้หญิงที่ถูกทุบตีบ้างหรือไม่ เธออยากถ่ายภาพพวกหล่อน อันที่จริงดีแอนไม่ได้อยากทำสารคดีความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงแต่อย่างใด แต่เพราะเธอสนใจรอยช้ำบนใบหน้าของพวกหล่อนต่างหาก

 
ดีแอนก็ได้รับความยอมรับนับถืออย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ในปี 1967 ภาพถ่ายของเธอถูกเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ The New Documents นิทรรศการที่เสมือนการก้าวเข้าสู่ยุคทองของการถ่ายภาพแนว Street Photography ที่ The Museum of Modern Art (MoMA) โดยจัดแสดงพร้อมกับ Garry Winogrand, Lee Friedlander แต่แยกห้องกันเนื่องจากภาพถ่ายของเธอทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น จากคำบอกเล่าของ Yuben Yee ผู้จัดการภาพถ่ายของ MoMA เล่าให้ฟังว่าหลายๆภาพของดีแดนถูกผู้เข้าชมงานถ่มน้ำลายใส่เนื่องจากความรังเกียจ เมื่อเกิดเหตุบ่อยๆเข้า Yuben Yee จึงได้รับคำสั่งให้มาที่แต่เช้าเพื่อเอาภาพเหล่านั้นออกจากงานไป (หนึ่งในภาพเหล่านั้นมีชื่อว่า “A Young Man in Curlers at Home on West 20th Street, N.Y.C. 1966 ซึ่งภาพนี้ถูกประมูลเมื่อปี 2004 ด้วยราคา $200,000)

  
หลายๆคนยินดีที่จะให้ดีแอนถ่ายภาพ และรู้สึกดีเมื่อได้เธอนำภาพที่พิมพ์กลับมาให้ บางคนก็ไม่คิดเช่นนั้น กรณีภาพถ่ายลูกชายของ Gloria Vanderbilt (A Very Young Baby, N.Y.C. 1968) ที่จะนำลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Harper’s Bazaar กลอเรีย มองว่าภาพที่ดีแอนถ่ายออกมานั้นทำให้ลูกชายของเธอดูน่ากลัว จึงไม่ยินยอมให้ภาพนั้นตีพิมพ์ รวมถึงกรณีของภาพฝาแฝดหนึ่งในภาพถ่ายที่โด่งดังที่สุดของดีแอน (Identical Twins, Roselle, N.J. 1967) ผู้ปกครองของเด็กพยายามที่จะหยุดการเผยแพร่ภาพนี้เนื่องจากภาพนั้นทำให้ลูกของเธอทั้งสองเหมือนผีและดูชั่วร้าย (ภาพนี้ถูกประมูลเมื่อปี 2004 ด้วยราคา $478,000)
 
เรื่องหนึ่งที่ดูจะแสดงถึงสไตล์การทำงานของดีแอนมากที่สุดเป็นเรื่องที่นิตยสาร New York ว่าจ้างให้ดีแอนถ่ายภาพของดารานางแบบ Underground ชื่อดัง Viva ดีแอนใช้เวลาตลอดช่วงเย็นถ่ายภาพ Viva ในอาร์พาร์ตเมนต์ ในเช้าวันถัดมาดีแอนกลับมายังอาร์พาร์ตเมนต์อีกครั้งพร้อมกับปลุก Viva แล้วบอกว่าต้องการจะถ่าย Head Shot และภาพถ่ายในเช้าวันนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น ภาพของ Viva คล้ายคนกำลังเมายาและดูน่าขยะแขยง ทำให้ Vogue ยกเลิกการถ่ายภาพแฟชันกับ Viva ทันที

 
 
วิธีการถ่ายภาพของดีแอนคือ มองหาจุดบกพร่องของคนๆนั้นแล้วดึงออกมาให้มากที่สุด ดีแอนให้สัมภาษณ์ว่า “คุณมองไปยังใครหนึ่งริมถนน แล้วรู้สึกสะดุดตาอะไรเป็นสิ่งแรก นั่นคือจุดบกพร่อง” บ่อยครั้งที่เธอถ่ายภาพคนอื่นในระยะที่ “อึดอัด” จนทำให้คนที่ถูกถ่ายภาพแสดงพฤติกรรมที่แปลกๆออกมา เช่น กรณีของภาพถ่ายอันโด่งดัง “Child with a toy hand grenade in Central Park, 1962”  ดีแอนถ่ายช็อตนี้ 11 ภาพ แต่ละภาพดูปกติเหมือนถ่ายภาพเด็กๆทั่วไป โพสท่า ยิ้มแย้ม แต่มีภาพหนึ่งที่ดีแอนเลือกออกมา คือภาพที่เด็กทำท่าทางเบื่อหน่ายเพราะดีแอนถ่ายภาพของเขาไม่เลิก (ภาพถูกประมูลเมื่อปี 2005 ที่ $408,000)
 
ดีแอนเคยถ่ายภาพสารคดีของคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยงานชุดนี้ใช้แสงเงาที่นุ่มนวลลง ไม่หนักแน่นเหมือนงานก่อนหน้า ตอนแรกเธอบอกว่างานชุดนี้เป็นเหมือนกับบทกวี อ่อนนุ่ม และสวยงาม แต่ในเวลาถัดมาดีแอนกลับบอกว่าเธอเกลียดงานชิ่นนี้ นี่อาจแสดงถึงอาการของโรคซึมเศร้าที่มีการเปลี่ยนกลับไปมาของอารมณ์อย่างรุนแรง และการป่วยจากโรคตับอักเสบก็ทำให้อาการนี้ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น 
 
วันที่ 26 กรกฎาคม 1971 ขณะที่อาศัยอยู่ที่ Westbeth Artists Community ในกุรงนิวยอร์ค ดีแอน อาบัสกลืนยาระงับประสาทจำนวนมาก และกรีดข้อมือของตัวเองในอ่างน้ำ จบชีวิตช่างภาพที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ด้วยอายุเพียง 48 ปีเท่านั้น


เกี่ยวกับหนัง
ชีวิตของเธอถูกนำไปสร้างเป็นหนังที่ชื่อว่า Fur  นำแสดงโดยนิโคล คิดแมน (Fur แปลว่า ผ้าขนสัตว์ เนื่องมาจากธุรกิจของครอบครัวดีแอนทำเกี่ยวกับเสื้อผ้าขนสัตว์) ต้องบอกว่าหนังนำเอาแค่ส่วนหนึ่งของชีวประวัติเธอมาสร้าง มีเรื่องจริงเพียงแค่ช่วงต้นๆเท่านั้น ส่วนท้ายๆเป็นเรื่องจินตนาการเอาของผู้กำกับล้วนๆ แต่การที่ดีแอนไปมีอะไรกับคนที่เป็นแบบให้เธอนั้นเป็นเรื่องจริง แต่จะมีขนดกอย่างนั้นหรือเปล่าผู้เขียนก็ไม่อาจทราบได้


© 2008 - 2024 Akkara Naktamna All right reserved.