Last Note - Stephen Shore
Posted by Akkara - Nov 30, 2015 10:47


เวลาที่ดูภาพถ่ายของ Stephen Shore ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่มีคือ 'ภาพนี้มันยังไงของมัน' หรือ 'ช่างภาพต้องการจะสื่ออะไรกันแน่' เพราะภาพส่วนใหญ่ของ Shore จะถ่ายภาพทิวทัศน์ สิ่งของ แบบพื้นๆ เรียกว่าพื้นซะจนออกจะธรรมดาเอามากๆ ขนาดถึงกับมีเพื่อนที่เป็นช่างภาพของ Shore บอกว่า "ฉันไม่รู้ว่าจะเริ่มดูภาพคุณจากตรงไหนก่อน ไม่รู้ว่าจะเริ่มดูมันอย่างไร เอาจริงๆฉันไม่รู้ว่าคุณต้องการสื่อเรื่องอะไรเลยด้วยซ้ำ" Shore ผจญกับคำถามเหล่านี้มาทั้งชีวิต Shore อธิบายง่ายๆว่า "จริงๆคนเหล่านั้นรู้ตะหงิดๆแล้วล่ะว่าช่างภาพกำลังสื่ออะไรบางอย่าง แต่พวกเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร" นี่เป็นเหมือนหัวใจในการดูภาพถ่ายของเขา คือต้องค้นหาว่า Shore กำลังเล่นอะไรกับเราอยู่กันแน่

 
Stephen Shore เกินที่แมนฮัตตันปี 1947 กับครอบครัวที่มีฐานะ เขามีความสามารถเรื่องการถ่ายภาพตั้งแต่ยังเด็กและแถมยังได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างดี ตอน 6 ขวบเขามีห้องมืดส่วนตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากคุณลุง ตอน 9 ขวบเขาก็เริ่มใช้กล้อง 35mm และเริ่มทดลองการใช้ฟิล์มสี ปีต่อมาเขาได้รับหนังสือภาพถ่าย American Photographs ของ Walker Evans ที่เป็นช่างภาพคนแรกที่ได้จัดแสดงที่ MoMA พออายุได้ 14 ปี เขารวบรวมความกล้าไปนำเสนอภาพถ่ายกับ Edward Steichen ช่างภาพสมัยใหม่อันโด่งดังและเป็นภัณฑารักษ์ (Curator) ที่ MoMA ในสมัยนั้น และ Steichen ก็ได้ซื้อภาพถ่ายของเขาไป 3 ภาพ ปี 1971 Shore กลับไปที่ MoMA อีกครั้งด้วยอายุเพียง 24 และก็ได้เป็นช่างภาพคนที่สองที่ได้แสดงงานเดี่ยวที่ MoMA (คนแรกคือ Walker Evans)
 
การประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยอายุที่ยังน้อย ทำให้ Shore ค่อนข้างมีความกดดันกับงานชิ้นต่อไปค่อนข้างมาก ทำให้เขาต้องสร้างงานที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆในยุคนั้น และสิ่งที่ Shore ทำคือ ออกเดินทางถ่ายภาพประเทศบ้านเกิดของเขา America ซึ่งจริงๆ Shore ไม่ใช่คนแรกที่มีแนวคิดแบบนี้ Robert Frank ออกไปสร้าง The Americans ตั้งแต่ปี 1955 แต่ที่ Shore จะทำคือ เขาจะถ่าย America ด้วยเป็นภาพสี 

 
 
ในสมัยนั้นภาพถ่ายสีใช้งานโฆษณาและงานภาพข่าวในบางครั้ง แต่ยังไม่ค่อยมีคนนิยมใช้กันในงานศิลปะภาพถ่าย มีช่างภาพไม่กี่คนเท่านั้นที่สร้างงานด้วยฟิล์มสี (หนึ่งในไม่กี่คนคือ Helen Levitt ช่างภาพหญิงที่บุกเบิกภาพถ่ายสตรีทที่เป็นสี) และอีกไม่กี่ปีถัดมา Stephen Shore และ William Eggleston คือสองช่างภาพที่นำภาพถ่ายสีเข้าสู่โลกของภาพถ่ายศิลปะ และแม้ว่างานของทั้งคู่จะดูคล้ายๆกันคือสนใจในสิ่งธรรมดาสามัญ แต่เหตุผลของทั้งคู่ต่างกัน Eggleston มีแนวคิดที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีความน่าสนใจและมีค่าพอที่จะถ่ายภาพในปริมาณที่เท่าเทียมกัน หรือที่เขาเรียกว่า Democratic Camera ส่วน Shore มีความคิดที่ว่า "ทุกๆสิ่งภายในภาพ มีความหมายทั้งหมด" 
 
เขาเริ่มถ่ายภาพด้วย 35mm เมื่อตกผลึกทางความคิดมากขึ้นเขาจึงเขยิบไปเล่น 4x5 large format ขนาดของภาพทำให้เขาได้ภาพที่ชัดเจนตลอดทั้งเฟรม ด้วยสิ่งนี้ทำให้ Shore หันมาใช้ 8x10 เป็นการถาวร แต่ถึงแม้จะมีข้อดีเรื่องความชัดเจนของภาพ แต่ก็่ต้องเสียความคล่องตัวไปเพราะกล้อง large format มีขนาดใหญ่เอามากๆ และเรื่องสำคัญคือ ค่าใช้จ่าย เขาเคยคำนวณไว้ว่า ค่าใช้จ่ายต่อการกดชัตเตอร์หนึ่งครั้งคือ $15 ซึ่งเป็นการใช้เงินจำนวนมากอยู่สำหรับวัยรุ่นคนหนึ่งที่ออกเดินทางถ่ายภาพในยุค 70 Shore เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ผมต้องถ่ายแค่หนึ่งช็อตสำหรับ subject หนึ่งๆ แต่คงประหยัดไม่ได้แน่ๆถ้าถ่ายทุกๆรูปที่คิดว่าดี (ประมาณว่ารูปที่ Shore คิดว่าดีมีเพียบ ถ้าถ่ายหมดเจ๊งแน่) แต่มันก็เป็นการเรียนรู้ที่จะต้องคิดว่าภาพที่เราจะถ่าย ต้องเป็นภาพที่เราต้องการจริงๆ และเรียนรู้ว่าจะจัดวางโครงสร้างของภาพอย่างไร" 

 
Shore ใช้กล้อง 8x10 มาเกือบ 30 ปี เขาจึงมองภาพในมุมมองของ 8x10 และถึงแม้ว่าตอนนี้เขาจะใช้กล้องดิจิตอลในบางครั้ง (Nikon D3x) เขาก็ยังใช้วิธีการถ่ายภาพแบบเดิม คือถ่าย 1 shot ต่อ 1 subject ยกเว้นต้องการจับภาพที่ subject เคลื่อนไหวเท่านั้น Shore ยังบอกอีกว่า "ภาพถ่ายของผมเกี่ยวกับอะไรที่เรียกว่า 'the visual grammar of photography' มุมมองและแนวคิดของช่างภาพนั้นเกิดจากการ 'เลือก' และ 'ตัดสินใจ' ก่อนการกดชัตเตอร์ บางสิ่งที่ปราศจากเหตุผลในความคิดของเราต่อสู้กันเอง และแย่งชิงว่าภาพนั้นควรจะออกมาอย่างไร มันเหมือนกับผมเดินออกจากรถมายืนที่ริมขอบทางบนถนน hi-way ผมอาจจะถ่ายภาพวิวป่าเขาให้เหมือนกับไม่เคยมีมนุษย์มาก่อนเลยก็ได้ หรือผมอาจจะถอยออกมาแล้วถ่ายติดขอบรั้ว hi-way เข้าไป เท่านี้ความหมายก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง" 
 
ภาพถ่ายของ Shore ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งพื้นๆ ธรรมดาสามัญเท่านั้น แต่บรรจุแน่นไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยหลากหลาย ที่แต่ละอย่างถูกกำหนดมาอย่างจงใจ และโยนคำถามที่ว่า ทำไม ต้องถ่ายตรงนี้ ทำไมไม่เดินเข้าไปอีกซักหน่อย หรือ ทำไม ไม่รอให้รถเข้ามาในกรอบแล้วค่อยถ่าย หรือ ทำไม ไม่รอให้ถนนว่างซะก่อนค่อยถ่าย คำว่า 'ทำไม' คือ key word ในงานของ Stephen Shore

 
แนวคิดในการถ่ายภาพของ Shore อาจดูประหลาดและไร้เหตุผล แต่นี่คือการมองโลกที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับคนทุกคน เราตัดสินอยู่แล้วว่าสิ่งไหนเราจะสนใจ สิ่งไหนควรจะมองมองข้าม และนั่นไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้มีความสำคัญ เราแค่ไม่สนใจมันชั่วคราวเท่านั้น แต่ที่จริงสิ่งที่เรามองข้ามอาจจะน่าสนใจสุดๆเลยก็ได้ และ Shore นำเสนอสิ่งเหล่านี้ Shore มองว่าทุกสิ่งอย่างในกรอบภาพล้วนต้องมีความหมายกำกับไว้ หลายคนมักจะคิดว่าแค่ถ่ายภาพ subject หนึ่งให้สื่อถึงความหมายตรงจุดที่เราสนใจ แล้วปล่อยให้สิ่งอื่นๆค่อยๆจางหายไปจนถึงขอบภาพ เหมือนกับการ Fade จนจบเพลง Shore ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ การปล่อยให้สิ่งต่างๆแม้แต่อยู่ที่ขอบภาพไร้ซึ่งความหมายคือ การที่ช่างภาพขาดซึ่งความเด็ดขาดและไร้ความรับผิดชอบ "มันคือการหลีกเลี่ยงการที่จะพูดอย่างมั่นใจว่า ตรงนี้คือโน๊ตตัวสุดท้าย..."

"...ในภาพถ่าย มันมีโน๊ตตัวสุดท้ายเสมอ"

http://stephenshore.net

by Akkara Naktamna
© 2008 - 2024 Akkara Naktamna All right reserved.